โทรสอบถามข้อมูลทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

หูอื้อ

หูอื้อ

หูอื้อ เป็นอาการอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจมากเท่าไรนัก เพราะบางคนคิดว่า เมื่อเกิดอาการหูอื้อ ไม่นานเดี๋ยวอาการก็หายไปเอง จึงมักจะถูกปล่อยปละละเลย และไม่เห็นถึงความสำคัญของอาการหูอื้อ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วนั้น เราควรจะทำความรู้จักเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาที่หลังเมื่อเกิดอาการหูอื้อขึ้น ดังนั้น วันนี้ เดียร์เฮียริ่ง เราจะพาไปดูกันว่า อาการหูอื้อ เกิดจากอะไร? และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

 

อาการหูอื้อ คืออะไร?

หูอื้อ (Tinnitus) คือ อาการ หรือภาวะอย่างหนึ่งที่ทำให้การได้ยินลดน้อยลงไป เหมือนมีบางอย่างไปกั้นอยู่บริเวณรูหู แต่สำหรับบางรายที่มีอาการหูอื้ออาจจะได้ยินเสียงอยู่ในหู ไม่ว่าจะเป็นเสียงแมลง หรืออาจจะเป็นเสียงหึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจจะได้ยินเสียงอื่นๆร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกลืนอาหาร ดื่มน้ำ ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด และชวนให้น่ารำคาญได้ตลอดเวลา

 

ประเภทของอาการหูอื้อ

อาการหูอื้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งก็มีดังนี้

  1. เสียงที่ได้ยินคนเดียว (subjective tinnitus) สำหรับอาการหูอื้อประเภทนี้ เป็นอาการหูอื้อที่เกิดจากความผิดปกติจากประสาทหู หรือบางรายก็อาจจะมีอวัยวะที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทหูเสื่อมหรือมีความผิดปกติ เช่น หูชั้นใน และสมอง
  2. เสียงที่คนอื่นได้ยินด้วย (Objective Tinnitus) เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจริง โดยเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเช่นเดียวกัน เช่น เกิดจากเส้นเลือดหรือการหายใจ

 

สาเหตุของอาการหูอื้อ

อาการหูอื้อสามารถที่จะเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อก็มีดังต่อไปนี้

  1. เกิดจากการที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต หรืองานต่างๆ ที่มีเครื่องเสียงดังๆ โดยจะทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เฉียบพลัน การได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น เสียงระเบิด ทำให้สูญเสียการได้ยินชั่วขณะ อย่างที่เรียกกันว่าอาการ หูดับ
  2. เกิดอาการหูอื้ออันเนื่องจากไข้หวัด เนื่องจากความดันในหูผิดปกติ จึงทำให้เกิดอาการหูอื้อหรืออีกหนึ่งรูปแบบก็คือ อาการหูอื้อจากหวัดที่เป็นเพราะหูชั้นกลางเกิดการติดเชื้อไวรัสจนมีอาการอักเสบขึ้นมา
  3. ภาวะที่น้ำเข้าไปอุดตันในหู ซึ่งเกิดจากการว่ายน้ำ อาบน้ำ โดยอาจจะทำให้มีน้ำเข้าไปภายในรูหู จนขี้หูเกิดการกักเก็บน้ำหรืออมน้ำเอาไว้จนพองตัวมากขึ้น ส่งผลทำให้ขี้หูเข้าไปอุดตันอยู่ในหูจนเกิดเป็นอาการหูอื้อขึ้นมา
  4. อยู่ในสถานที่ที่ส่งผลให้ความดันหูมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ จึงส่งผลให้เกิดอาการหูอื้อขึ้นมา เนื่องจากประสาทหูชั้นกลางอักเสบแบบเฉียบพลัน
  5. ในบางรายอาจเกิดอาการหูอื้อซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาที่มีต่อประสาทหู เช่น aminoglycoside , quinine หรือแม้กระทั่ง aspirin
  6. หูอื้ออันเนื่องจากประสาทหูเสื่อมไปตามอายุและวัย เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ประสาทหูก็อาจจะต้องมีการเสื่อมสภาพลงไปบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งก็มีส่วนทำให้เกิดอาการหูอื้อขึ้นได้
  7. เกิดความเสื่อมของหูชั้นใน ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้นและทำให้เริ่มสูญเสียการได้ยินไป อาการที่เกิดขึ้นคือได้ยินเสียงความถี่สูงดังอยู่ในหู เช่น เสียงวี้ดๆ
  8. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อาการหูอื้อมักเกิดร่วมกับมีเสียงรบกวนความถี่ต่ำในหู เช่น เสียงหึ่งๆ รวมถึงอาจมีอาการเวียนศีรษะและบ้านหมุนด้วย
  9. มีการติดเชื้อ หรืออักเสบภายในหู
  10. ความดันในหูผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการขึ้นไปยังที่สูง หรือเพิ่งขึ้นจากการดำน้ำ ทำให้ความดันภายในหูและสิ่งแวดล้อมภายนอกเกิดความแปรปรวน อาการคือมักได้ยินเสียงลมอื้ออึงอยู่ในหู
  11. มีขี้หูมากเกินไป บางครั้งเกิดจากการว่ายน้ำ ดำน้ำบ่อยๆ ซึ่งหากขี้หูอยู่ใกล้แก้วหูก็อาจทำให้เกิดหูอื้อได้
  12. มีหินปูนเกาะฐานกระดูกโกลน
  13. มีน้ำขังในหูชั้นกลาง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากน้ำเข้าหู ทำให้ได้ยินเสียงก้องในหูได้
  14. มีเนื้องอกในช่องหู ทำให้ได้ยินเสียงตุบๆ ในหู คล้ายเสียงเต้นของชีพจร
  15. เอ็นยึดกระดูกโกลนในหูชั้นกลางหดเกร็ง ทำให้หูอื้อและเกิดเสียงคลิกๆ ในหู
  16. มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู เช่น แมลงเข้าหู ทำให้การได้ยินไม่ชัดเจน ร่วมกับมีอาการปวดหู
  17. มีความดันโลหิตสูง ทำให้การสูบฉีดเลือดแรงขึ้นจนเกิดเสียงรบกวนในหูได้
  18. การดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่

 

การรักษาอาการหูอื้อ

อาการหูอื้อจะใช้วิธีการรักษาตามสาเหตุที่เกิด ตัวอย่างเช่น

  1. หากเกิดหูอื้อจากขี้หูตัน อาจใช้วิธีแคะขี้หูออก แต่ต้องระมัดระวังไม่แคะไปลึกมาก เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลและอาจเกิดการติดเชื้อได้ หรืออาจหยอดยาละลายขี้หูก็ได้
  2. หากสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในหู แพทย์อาจให้ทานยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ รวมถึงหากสาเหตุมาจากโรคหวัด ก็ต้องรักษาเชื้อหวัดให้หายเช่นกัน
  3. หากเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู แพทย์จะใช้เครื่องมือนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
  4. ถ้าหูอื้อเนื่องจากน้ำขังในหู ต้องพยายามนำน้ำออกมา โดยการเอียงหูลงต่ำ แล้วกระโดดหรือเคาะศีรษะเบาๆ แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องให้แพทย์ใช้เครื่องมือดูดน้ำออก
  5. บางสาเหตุอาจต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อรักษา เช่น มีหินปูนเกาะที่กระดูกโกลนในหู หรือมีเนื้องอกในหู เป็นต้น
  6. หากเกิดหูอื้อเรื้อรัง อาจใช้อุปกรณ์ช่วยบำบัด เช่น อุปกรณ์กลบเสียง ที่ใช้สร้างเสียงสีขาว (white noise) เพื่อกลบเสียงรบกวนในหู หรือถ้ามีอาการหูตึง อาจสวมเครื่องช่วยฟังด้วย

 

อาการหูอื้อ มีลักษณะอาการอย่างไร?

อาการหูอื้อสามารถแบ่งออกไปได้จากรูปแบบลักษณะเสียง ดังนี้

  1. เสียงตามจังหวะหัวใจ อาการหูอื้อรูปแบบนี้จะได้ยินเสียงตุบๆ หรือฟู่ๆ ดังไปตามจังหวะชีพจร โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) และความผิดปกติของหลอดเลือด
  2. เสียงความถี่ต่ำ เสียงที่ได้ยินในหูคือ เสียงอื้อๆ ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำ มาจากการที่เกิดภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน
  3. เสียงความถี่สูง รูปแบบเสียงที่ได้ยินนั้นจะเป็นเสียงคล้ายๆ กับมีแมลงอยู่ในหู โดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นเพราะผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมากจนเกินไป
  4. เสียงก้อง อาการก็คือ เหมือนจะได้ยินเสียงก้องอยู่ในหูอยู่ตลอดเวลา สาเหตุเป็นเพราะมีน้ำขังอยู่ในหูนั่นเอง
  5. เสียงลม รูปแบบของอาการจะคล้ายกันกับเสียงรูปแบบอื่น ซึ่งอาการนี้มีสาเหตุเป็นเพราะท่อความดันในหูมีความผิดปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อมีอาการหูอื้อ ก็สามารถที่จะส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ร่างกายอ่อนเพลียง่าย , เกิดปัญหาความเครียด , มีปัญหาด้านความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น และมีปัญหาด้านความจำ

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยอาการหูอื้อ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะมีการตรวจประวัติต่างๆ โดยละเอียด โดยเฉพาะหู เพื่อที่จะใช้ในการวินิจฉัย เช่น ที่มาของเสียงนั้นมาจากหูชั้นใด และบางรายอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเส้นประสาท นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถทำการตรวจเจอสาเหตุของอาการหูอื้อได้อย่างชัดเจนตรงจุด เพราะฉะนั้นแพทย์อาจจะต้องมีการตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อตรวจดูความถี่ที่ได้ยินร่วมด้วย และอาจจะต้องมีการตรวจเพื่อหาโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งในเรื่องของเนื้องอกและการแสกนสมองด้วยคลื่นไฟฟ้า

 

วิธีรักษาอาการหูอื้อ

สำหรับวิธีรักษาอาการหูอื้อ สามารถที่จะแบ่งประเภทของการรักษาไปตามสาเหตุที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งก็มีดังนี้

  1. รักษาอาการหูอื้อจากสาเหตุ
  2. หูอื้อจากการเป็นหวัด อาการหูอื้อจากการเป็นหวัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยคิดว่าอาจจะหายได้เอง แต่หากพบว่าอาการหูอื้อไม่สามารถหายเองได้ ก็ควรไปพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคจมูกอักเสบตามมาได้
  3. หูอื้อจากขี้หู วิธีการรักษาที่ง่ายมากที่สุดคือ การแคะขี้หูออกมา แต่ควรที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากพอสมควร หากมีปริมาณขี้หูที่มากเกินไป แนะนำให้ใช้ยาละลายขี้หูหยดไปที่หู 2-3 ครั้งก่อน
  4. หูอื้อจากการได้ยินเสียงดัง ควรสังเกตอาการเพิ่มเติม เพราะหากมีการเวียนศีรษะร่วมด้วยก็ควรรีบไปพบแพทย์

 

รักษาอาการหูอื้อจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

  1. พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเสียงดัง เพื่อทำให้อาการหูอื้อทุเลาลง
  2. ลดความเครียด เพราะความเครียดสามารถที่จะทำให้อาการหูอื้อดังมากกว่าเดิมได้นั่นเอง
  3. หากิจกรรมใหม่ๆ ทำ เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะหากมัวแต่ใส่ใจแต่กับอาการหูอื้ออย่างเดียว ก็อาจจะทำให้รู้สึกเครียดได้มากยิ่งขึ้น

 

รักษาอาการหูอื้อด้วยตัวช่วยอื่นๆ

  1. สำหรับวิธีรักษาอาการหูอื้อด้วยการใช้ตัวช่วยนั้น อุปกรณ์กลบเสียงถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ โดยจะมีการสร้างเสียงรูปแบบต่างๆ มาทดแทนเสียงที่อยู่ในหู
  2. รักษาด้วยการใช้ยา โดยสามารถที่จะใช้ยาในการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน หรืออาจจะเป็นยาที่ใช้เพื่อการปรับความดันของท่อในหู เช่น ยาอัลปราโซแลม ยากลุ่มไตไซคลิก betahistine

 

วิธีป้องกันอาการหูอื้อ

สำหรับวิธีป้องกันอาการหูอื้อนั้น สามารถทำได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ โดยสามารถทำได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดัง หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปบริเวณนั้น ควรใช้ที่อุดหูเพื่อลดการได้ยินเสียงที่ดังมากจนเกินไป
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจทำลายเซลล์ประสาทในส่วนของการรับเสียงได้
  3. พยายามดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคที่จะส่งผลต่อประสาทการรับเสียง
  4. หากมีโรคที่เกิดขึ้นบริเวณจมูก ควรรีบทำการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหูอื้อตามมา

 

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันหูอื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีเสียงดังเกินปกติหรือหากจำเป็นต้องเข้าไปก็ควรสวมที่ครอบหูเอาไว้เพื่อป้องกันเสียงดัง
  2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะกระตุ้นให้อาการหูอื้อเป็นมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดในหูเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้อาการอื้อหนักขึ้น
  3. หากเกิดอาการหูอื้อในระหว่างขึ้นบนที่สูงๆอย่าง ภูเขา หรือเครื่องบิน ต้องแก้ไขด้วยการกลืนน้ำลายบ่อยๆหรือการเคี้ยวหมากฝรั่งช่วย
  4. หลีกเลี่ยงการใช้สำลีปั่นหู หรือใช้ไม้แคะหูด้วยความรุนแรงเด็ดขาด แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้สำลีปั่นหูที่มีคุณภาพดีสักหน่อยเพื่อป้องกันการอักเสบหรือเกิดแผลในช่องหูขึ้นมาได้
  5. หลีกเลี่ยงการใส่หูฟังอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งอย่าเปิดเพลงเสียงดังเกินปกติด้วย
  6. หากอาการหูอื้อเกิดหลังจากการไปว่ายน้ำ หรือตัวเปียกน้ำจนน้ำเล็ดลอดเข้าไปในรูหู ต้องทำให้น้ำที่เข้าไปออกมาให้ได้ โดยการกรอกน้ำเข้าไปที่หูที่กำลังอื้ออยู่ จากนั้นค่อยทำการตะแคงตัวเทน้ำที่หูออกไป อาการหูอื้อเนื่องจากการมีน้ำในหูก็จะหายไปได้
  7. พยายามออกกำลังกายอยู่เสมอ และพยายามหาเรื่องที่ดีๆ เรื่องที่ฟังแล้วมีความสุขใส่สมองบ้าง จะเป็นการลดความตึงเครียด ความวิตกกังวลให้ลดลงไปได้ รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 7 ชั่วโมงต่อวันด้วย

 

แม้หลายคนอาจคิดว่าหูอื้อ เป็นเพียงอาการที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวก็หายไปเองได้ แต่กระนั้นก็ไม่ควรชะล่าใจอย่างเด็ดขาด เพราะหากปล่อยให้เกิดหูอื้อนานๆ ก็อาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจได้ ดังนั้น รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหูอื้อเป็นเวลานานหรือพบว่ามีอาการผิดปกติ เพื่อให้แพทย์หาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกจุดต่อไป

 

ขอขอบคุณที่มาจาก >>> https://www.honestdocs.co/

Recent Posts
Clear Filters

Add Comment

You must be logged in to post a comment.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ADD LINE
close-link
ADD LINE