โทรสอบถามข้อมูลทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

โรคเสียงดังในช่องหู

โรคเสียงดังในหู อาการ และวิธีรักษาป้องกันอย่างถูกจุด

โรคเสียงดังในหู tinnitus

เป็นโรคที่หลายคนไม่คุ้นเคยกันนัก เพราะโดยปกติแล้วคนเราไม่ควรจะมีเสียงดังในหู แต่หากได้ยินเสียงลมในหู หรือได้ยินเสียงที่เหมือนกับจักจั่น เรไร จิ้งหรีด ทั้งที่ไม่มีเสียงนั้นจริง ๆ จากภายนอก นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่า เรากำลังป่วยเป็น โรคเสียงดังในหู นั่นเอง

โรคเสียงดังในหู คืออะไร?

โรคเสียงดังในหู (tinnitus) คือ โรคที่ผู้ป่วยมักจะมีอาการเสียงดังในหู โดยส่วนมากแล้วจะได้ยินเสียงคล้ายกับเสียงของจักจั่น หรือเสียงจิ้งหรีดร้องภายในหู และอาจได้ยินเป็นเสียงซ่าๆ หึ่งๆ วิ๊งๆ หรือลักษณะคล้ายเป็นเสียงลมดังในหู ซึ่งอาจเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดขึ้นได้ทั้งสองข้าง บางครั้งก็เป็นๆ หายๆ หรือบางครั้งก็ดังตลอดเวลา มักจะได้ยินเสียงอย่างชัดเจนในขณะที่อยู่ที่เงียบๆ หรือในเวลากลางคืน และอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีอาการหูอื้อ ปวดหู บ้านหมุน และเวียนศีรษะ

โรคเสียงดังในหู มี 2 ประเภท

  1. เสียงดังในหูประเภทได้ยินเฉพาะผู้ป่วย หรือเสียงที่มีการรับรู้ผิดปกติ โดยที่ไม่ได้มีเสียงเกิดขึ้นจริง เช่น ได้ยินเสียงลม เสียงพรึบพรับ เสียงจิ้งหรีดร้อง หรือเสียงหึ่งๆ อื้อๆ เป็นประเภทเสียงดังในหูที่พบบ่อยมากที่สุด มีสาเหตุเกิดมาจาก

– หูชั้นนอก เช่น เนื้องอกของหูชั้นนอก หูชั้นนอกอักเสบ เยื่อแก้วหูทะลุ และขี้หูอุดตัน

– หูชั้นกลาง เช่น โรคหินปูนในหูชั้นกลาง หูชั้นกลางอักเสบ และน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลางจากท่อยูสเตเชี่ยน

(ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ

– หูชั้นใน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดการติดเชื้อของหูชั้นใน การเสื่อมของเส้นประสาทหู ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการได้รับเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ

ทำให้เส้นประสาหูเสื่อมเฉียบพลัน และพบได้บ่อยสุดคือ ประสาทหูเสื่อมจากอายุ

– สมอง เช่น โรคของเส้นเลือดอย่าง เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง และเส้นเลือดในสมองตีบ

– สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง และโรคแพ้ภูมิตัวเอง

  1. เสียงดังในหูประเภทบุคคลภายนอกได้ยินด้วย หรือเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจริงอยู่ภายในร่างกายของผู้ที่ได้ยินมักจะได้ยินเป็นเสียงตุ้บๆ หรือ ฟู่ๆ ตามชีพจร ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น

– หลอดเลือดแดงมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติกับหลอดเลือดดำ

– เส้นเลือดวางอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ

– เส้นเลือดแดงโป่งพอง

การรักษาอาการเสียงดังในหู

ในการรักษาจะเป็นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงรบกวน เช่น การทำความสะอาดเพื่อเอาขี้หูออก การให้ยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน การให้ยารักษาอาการบวมของท่อปรับความดันหู หรือการให้ยาเพื่อรักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน การใช้สเตียรอยด์ ใบแปะก๊วย หรือยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในชนิดอื่น อาทิ เบต้าฮีสทีน ซึ่งจะช่วยลดเสียงรบกวนได้ประมาณ 60% แต่หากมีเสียงดังในหู จนก่อให้เกิดความรำคาญ หรือส่งผลต่อการนอนหลับ ก็อาจจะใช้เสียงอื่นเพื่อกลบเสียง เช่น เปิดเพลงเบาๆ ก็จะให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นมาก และบางสาเหตุต้องอาศัยการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน เพื่อรักษาภาวะหินปูนเกาะที่ฐานกระดูกโกลนในหูชั้นกลาง การใส่ท่อระบายน้ำที่ขังในหูชั้นกลาง และการรักษาเสียงตุ้บที่ดังตามชีพจร กับเสียงฟู่ จะต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อที่จะรักษาต่อตามสาเหตุที่พบ ซึ่งอาการเสียงดังในหูบางประเภทจะค่อยๆเกิดขึ้นโดยไม่รบกวนผู้ป่วยมากนัก แต่การได้ยินจะลดลงเรื่อยๆพร้อมทั้งมีอาการเดินเซ มักเกิดมาจากก้านสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือเนื้องอกของเส้นประสาทคู่ที่ 8 โดยจะต้องทำการ MRI เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือแกมม่าไนฟ์ต่อไป

การดูแลป้องกันสำหรับอาการเสียงดังในหู ที่เกิดจากประสาทหูเสื่อม

แต่หากอาการเสียงดังในหูเกิดจากประสาทหูเสื่อม ก็ต้องป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้นด้วยการหลีกเลี่ยงไปยังสถานที่ที่มีเสียงดัง หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุหรือการกระเทือนบริเวณใบหู ลดความเครียด ความวิตกกังวล โดยเฉพาะเกี่ยวกับอาการเสียงดังในหู เพราะหากยิ่งกังวลจะทำให้เสียงดังมากขึ้น หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และหากเป็นโรคไต โรคเลือด โรคซีด โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมโรคให้ดี นอกจากนี้ ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ นอนให้พอ ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท อาทิ กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารเคเฟอีน) และงดการสูบบุหรี่ (สารนิโคติน)

วิธีลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเสียงดังในหู

เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงป่วยเป็นโรคเสียงดังในหู เราควรจะต้องดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง ควรใช้เครื่องป้องกัน เช่น แผ่นครอบปิดหู หรือจุกอุดหู ระวังอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น ขับรถอย่างปลอดภัย คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน๊อก และไม่ฟังเสียงที่ดังเกินไป เช่น เสียงเพลง หรือเสียงทีวี รวมถึงควรจะต้องดูแลระบบไหลเวียนเลือดกับสุขภาพหัวใจ เช่น ระวังน้ำหนักเกิน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายประจำ และป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันเลือดสูง นอกจากนี้ พฤติกรรมเล็กๆอย่างการสั่งน้ำมูกแรงๆ ก็อาจทำให้ประสาทหูฉีกขาดได้เช่นเดียวกัน จึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนกับหูจะดีที่สุด

ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติจึงควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆจะดีที่สุด และดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะก่อให้เกิดโรคเสียงดังในหูไปพร้อมๆกันด้วย

ขอขอบคุณที่มาจาก https://mahosot.com/tinnitus.html

บริการนัดตรวจการได้ยิน

ศูนการได้ยิน เดียร์ เปิดบริการมากกว่า 30 ปี  โดยให้ผลตรวจโดยตรงจาก Audiologist ให้คุณได้มั่นใจในบริการ สามารถนัดตรวจออนไลน์เพื่อนัดหมาย ในการเข้ารับบริการได้แล้ว ทางเราจะรีบติดต่อกลับทันที เพื่อให้คุณ

มีความสุขกับการได้ยินอีกครั้ง…

Recent Posts
Clear Filters

Add Comment

You must be logged in to post a comment.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ADD LINE
close-link
ADD LINE