โทรสอบถามข้อมูลทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

 

 

         โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคความดันน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) พบมากในวัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ คือช่วงอายุ 30-60 ปี พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าเล็กน้อย โดยอาการมักจะเริ่มแสดงเมื่ออายุ 30 ปี เป็นโรคที่พบได้บ่อยๆ เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในซึ่งเกิดจากความดันน้ำในหูชั้นในที่เรียกว่า Endolymph มากผิดปกติ ส่งผลให้หูขั้นในที่มีหน้าที่ในการรับเสียงกับการทรงตัวไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างปกติ โดย Endolymph มีเกลือแร่ที่สำคัญอย่าง โปรแตสเซียม และถ้าไปปนกับน้ำส่วนอื่นๆ หูจะทำงานไม่ได้ เยื่อต่างๆ ในหูชั้นในจะแตก

 

  • สาเหตุของการเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด และบางครั้งอาจไม่พบว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่มีตัวกระตุ้นหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจัยภายในเกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์ พบได้ถึง 10-20% และพบบ่อยในครอบครัวที่เป็นไมเกรน ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน รวมถึงการมีประจำเดือน มีอาการปวดศีรษะไมเกรน เป็นโรคภูมิแพ้ โรคซิฟิลิสขั้นรุนแรง โรคหูน้ำหนวก อดนอน ความเครียด การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมการทานอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม รวมถึงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังอึกทึกมากๆ

 

  • อาการโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
    • หูข้างที่ผิดปกติ จะมีอาการเสียงดังในหู และมีอาการตึงๆภายในหูคล้ายกับว่ามีแรงดันเกิดขึ้นข้างในหูร่วมด้วย
    • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง โดยมีอาการนานเป็นนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งอาการจะมาๆ หายๆ และมีความรู้สึกหมุนร่วมด้วย
    • บางครั้งจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมกับการสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซหรือล้มได้ง่ายๆ และมีเหงื่อออกเยอะร่วมด้วย
    • มีอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ค่อยชัด รู้สึกแน่นในหูแบบเป็นๆหายๆ แต่ในบางครั้งการได้ยินจะดีขึ้น บางครั้งก็แย่ลง เกิดจากประสาทหูที่เสื่อม ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะประสาทการได้ยินที่ผิดปกติเรียกว่าประสาทเสียงเสีย ซึ่งอาการได้ยินไม่ค่อยชัดหรือการได้ยินลดลง มักจะพบในช่วงระยะเริ่มแรกของโรค โดยการได้ยินจะลดลงในช่วงเกิดอาการเวียนศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นเพียงชั่วคราว และเมื่อร่างกายกลับสู่ภาวะปกติการได้ยินจะดีขึ้น แต่อาการหูอื้อในช่วงระยะหลังๆของโรคอาจจะเป็นอยู่ตลอดไป

 

  • การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันตามระยะของโรค
    • ระยะที่ 1 ดูแลร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
    • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ ‘หู’ เริ่มเกิดการเสื่อม ทำให้มีเสียงในหู และมีอาการเวียนศีรษะ เป็นไม่มาก แต่เป็นๆหายๆ ในระยะที่2 อาจต้องทานยาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
    • ระยะที่ 3 กับ ระยะที่ 4 จะทำการรักษาด้วยการใช้ยาฉีดหรือผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะทำการฉีดยาเข้าไปที่หูข้างในโดยตรง เพื่อทำลายเซลล์ที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และเมื่อเซลล์ตายอาการดังกล่าวจะหายไป โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษา

 

  • ข้อควรปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
  1. หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด ควบคุมจำกัดปริมาณเกลือไม่ให้มากเกินไป
  2. หลีกเลี่ยงช็อกโกแลต เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และอาหารที่มีคาเฟอีนอย่าง ชากับกาแฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้อาการแย่ลง
  3. ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ และถูกต้องตามหลักอนามัย
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในเวลานอนหลับ หากมีเสียงรบกวนในหูมากก็จะทำให้นอนไม่หลับผู้ป่วยจึงควรเปิดเพลงอย่างเบาๆในขณะนอน เพื่อที่จะกลบเสียงที่รบกวนในหูให้หมดไป
  5. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. หลีกเลี่ยงความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส
  7. ผู้ป่วยที่เกิดอาการเวียนศีรษะในทันทีโดยไม่มีอาการเตือน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการปีนป่ายที่สูง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเสี่ยงอันตรายได้
  8. ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยอ่อนอย่างมาก
  9. บริหารระบบการทรงตัว ซึ่งเป็นการบริหารศีรษะกับการทรงตัวทำให้สมองสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็วขึ้น

 

  • วิธีป้องกันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

การป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ ลดปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรค อาทิ ลดการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีคาเฟอีนทุกชนิด ลดการทานเค็ม และพยายามไม่ทำให้ตัวเองเครียด ไม่หักโหมทำงานจนมากเกินไป ทำจิตใจให้ผ่องใส และพักผ่อนให้เพียงพอ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.mahosot.com , www.probioticdigest.com

Recent Posts
Clear Filters

Add Comment

You must be logged in to post a comment.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ADD LINE
close-link
ADD LINE