โทรสอบถามข้อมูลทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

คำแนะนำสำหรับญาติและผู้ดูแลผู้ป่วยอะเฟเซีย Aphasia

          อะเฟเซีย Aphasia อาการผิดปกติของการพูด ความเข้าใจภาษา เป็นอาการที่เกิดเนื่องจากศูนย์ควบคุมกระบวนการทางภาษาในสมองได้รับการกระทบกระเทือนจากโรคทางระบบประสาท หรือได้รับอุบัติเหตุทางสมอง ผู้ป่วยอะเฟเซียมีความบกพร่องทางภาษาทั้ง 4 ทักษะ ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน และเขียน ปัญหาดังกล่าวมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของรอยโรคในสมอง ความบกพร่องที่แสดงออกอย่างชัดเจนคือการพูดคุยติดต่อสื่อสาร ดังนั้นการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพูดคุยให้ได้เร็วที่สุด ญาติและผู้ดูแลจะต้องเข้าใจถึงปัญหาของผู้ป่วยก่อนแล้วจึงปฎิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องตรงกับปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

 

 

  1. ปฎิบัติต่อผู้ป่วยให้เหมือนปกติให้มากที่สุด

เริ่มต้นทำตัวให้เป็นปกติเหมือนเดิม เวลาคุยกันต้องให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการสนทนาถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีปฎิกิริยาโต้ตอบหรือมีท่าทางสนใจในการสนทนาก็ตาม เพราะการปฎิบัติเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง และมีความสำคัญในครอบครัวหรือในกลุ่ม

  1. ต้องสนทนาอย่างตั้งใจ

ตัดสิ่งรบกวนรอบข้างออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ขณะคุยกันกับผู้ป่วยอะเฟเซีย เช่น การพูดสนทนาในกลุ่มคนมากๆ เสียงรบกวนต่างๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงหัวเราะ เสียงโทรทัศน์ เพราะสิ่งรบกวนเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ความตั้งใจมากทำให้รู้สึกล้าและรู้สึกเครียด

  1. ชักชวนเพื่อนๆมาเยี่ยมบ้าง

ญาติและผู้ดูแลชักชวนเพื่อนๆและคนรู้จักของผู้ป่วยให้มาเยี่ยมบ้าง และอธิบายให้เพื่อนๆรู้ถึงปัญหาของผู้ป่วยและวิธีการช่วยเหลือ บางครั้งที่เพื่อนๆมาเยี่ยมแต่เขาไม่รู้ และไม่เข้าใจว่าเวลามาเยี่ยมต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องพูดอย่างไรบ้าง เพื่อนๆอาจจะคิดว่ามาแล้วก็คุยกันไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่องว่าผู้ป่วยต้องการจะสื่อสารอะไร หรือพยายามจะพูดอะไร ซึ่งจริงๆแล้วเพื่อนๆเพียงแต่แสดงให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขายังมีเพื่อน ยังเป็นคนสำคัญอยู่ ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังสื่อสารกันไม่เข้าใจก็ตาม

  1. ให้ผู้ป่วยใช้การเขียนเพื่อช่วยสื่อสาร ถ้ายังพูดไม่ได้หรือนึกคำพูดไม่ออก

การช่วยเหลือผู้ป่วยอะเฟเซียคือการฝึก และแก้ไขให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อสื่อสารได้ไม่ใช่ให้พูดได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยยังสามารถสื่อสารโดยใช้การเขียนได้บ้างญาติต้องให้กำลังใจให้เขียน หรือมีสมุดโน็ตติดตัวไว้ หรืออาจจะใช้ท่าทางขณะพูดเพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่สามารถสื่อสารได้

  1. พูดช้าๆ ชัดๆ

เวลาพูดกับผู้ป่วยอะเฟเซียให้พูดช้าลงและพูดอย่างชัดเจน แต่ไม่ต้องพูดช้ามากจนผู้ป่วยหมดความสนใจหรือเหมือนเขาเป็นเด็ก อย่าพูดกับผู้ป่วยขณะมีอาหารอยู่ในปากหรือกำลังเคี้ยวหมากฝรั่งเพราะจะทำให้เสียงที่พูดออกมาผิดเพี้ยนได้

  1. อย่าเร่งให้ผู้ป่วยพูด

ผู้ป่วยอะเฟเซียต้องการเวลาในการคิดและรวบรวมคำพูด ถ้าให้เวลาผู้ป่วยจะไม่รู้สึกถูกกดดัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น

  1. มองหน้าผู้ป่วยขณะพูดสนทนาด้วย

ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาการรับรู้หรือฟังคำพูดไม่เข้าใจ การแสดงท่าทางหรือการแสดงอาการทางหน้าตาจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น ดังนั้นการมองหน้าหรือให้ผู้ป่วยเห็นหน้าตาท่าทางขณะกำลังพูดจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น

  1. ใช้ประโยคสั้นๆเรียบง่าย

อย่าพูดประโยคยาวเกินไปผู้ป่วยจะไม่เข้าใจ เช่น อย่างถามว่า กลางวันนี้จะกินอะไร? ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ข้าวผัด หรือข้าวต้มดี? แต่ควรถามว่า กินข้าวต้มไหม? ควรใช้ท่าทางประกอบการพูดบ้างเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจง่ายขึ้น เช่น ถ้าถามว่า หนาวไหม? ทำท่าทางกอดอก ขณะพูดด้วย

  1. อย่าพูดด้วยภาษาที่พูดกับเด็ก

ต้องพูดกับผู้ป่วยอะเฟเซียด้วยภาษาที่เคยใช้ปกติ พูดให้ช้าลงแต่ต้องไม่ใช้คำพูดแบบพูดกับเด็ก และไม่ควรใช้รูปภาพหรือแบบฝึกหัดที่ใช้สำหรับเด็ก ควรใช้รูปภาพจากนิตยสารหรือบทความจากหนังสือ

  1. ใช้รูปถ่ายครอบครัวกระตุ้นการพูด

การใช้รูปถ่ายของบุคคลในครอบครัว รูปภาพสิ่งของหรือภาพสถานที่ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยคิดถึงชื่อบุคคลหรือสถานที่นั้นๆ

  1. ให้กำลังใจในการพูดคุยกับพี่น้องหรือในหมู่ญาติ

บางครั้งผู้ป่วยอะเฟเซียที่มีอายุอาจจะไม่สามารถพูดสื่อสารกับคนในครอบครัวได้ แต่กับพี่น้องหรือยาติที่คุ้นเคยกันมาก่อน ได้พูดคุยถึงเรื่องเก่าๆอาจจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยนึกคำหรือพูดแสดงออกมาได้

  1. พูดด้วยระดับเสียงดังปกติ

เมื่อพูดกับผู้ป่วยแล้วเขาดูเหมือนไม่เข้าใจ ก็ไม่ควรพูดตะโกน เพราะเขาไม่มีปัญหาทางการได้ยิน การตะโกนไม่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ ดังนี้ควรพูดกับเขาอีกครั้งหนึ่งด้วยระดับเสียงและน้ำเสียงปกติ

  1. กล่าวชมบ้างแต่ไม่ควรบ่อยจนเกินเหตุ

เป็นธรรมดาที่ทุกคนย่อมต้องการกำลังใจ ดังนั้นการพูดชมบ้างเพื่อให้กำลังใจกับผู้ป่วยเมื่อเขาได้ใช้ความพยายามในการสื่อสาร แต่ก็ต้องไม่กล่าวชมมากจนเกินไป เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกได้ว่าไม่จริงใจ หรือเสแสร้งซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียงกำลังใจได้ในภายหลัง

  1. อย่ากระตุ้นการพูดมากจนเกินไป

การที่ญาติหรือผู้ดูแลรู้สึกกังวลและต้องการช่วยให้ผู้ป่วยสื่อสารได้เร็ว อาจจะทำให้การกระตุ้นการพูดตามแบบที่นักอรรถบำบัดแนะนำมาผิดแผนไปจากเดิม และการที่ให้ผู้ป่วยทำแบบฝึกหัดการพูดบ่อยมากจนเกินไป หรือแก้ไขคำพูดที่ผู้ป่วยพูดผิดทุกครั้งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยล้าและเบื่อ

  1. อย่าให้คำสัญญากับผู้ป่วยว่าเขาจะพูดได้อย่างไร

ความสมบูรณ์จุดมุ่งหมายของการฝึกพูดคือให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารได้แต่โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับไปพูดได้ปกติเหมือนเดิมนั้นค่อนข้างที่จะยาก ดังนั้นอย่าให้ความหวังหรือทำความเข้าใจผิดๆแต่ต้องใช้กำลังใจในการฝึกให้เต็มความสามารถและมีส่วนร่วมในการสื่อสารให้มากที่สุด และให้ยอมรับในข้อจำกัดของตนเอง

  1. อย่าช่วยผู้ป่วยพูด

ในบางครั้งผู้ป่วยจะพูดแต่นึกคำไม่ออกอย่าพูดต่อเติมประโยคให้ผู้ป่วยทุกครั้ง ต้องให้เวลาคิด และพยายามถึงแม้ว่าบางครั้งเขาจะทำไม่ได้ แต่เมื่อได้รับการฝึกไประยะหนึ่งเขาจะทำได้ ถ้าเราช่วยเสริม หรือเติมประโยคทุกครั้งจะทำให้ผู้ป่วยขาดการพยายาม และเมื่อผู้ป่วยได้พยายามพูดต้องให้ความสนใจเขาทันที ระวังอย่าแสดงท่าทางเบื่อหน่าย เช่น เคาะนิ้ว ถอนหายใจใส่ แต่ต้องให้กำลังใจเพื่อให้เขาได้แสดงความคิดเห็นออกมา แต่ถ้าเขาได้พยายามแล้ว ยังไม่สำเร็จ ก็ต้องหยุด และให้กำลังใจเขาใหม่อีกครั้งว่าครั้งต่อไปอาจจะทำสำเร็จ อย่ารบเร้าผู้ป่วยต่อไป เพราะจะทำให้เครียดทั้งสองฝ่าย

  1. ต้องยอมรับเมื่อไม่เข้าใจที่ผู้ป่วยพูด

ต้องยอมรับและบอกผู้ป่วยว่าไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูด อย่าแกล้งทำเป็นเข้าใจ ควรบอกเขาว่า ฉันไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด มันเป็นอะไร? หรือ…ใช่ไหม? ผู้ป่วยอาจจะพยักหน้า ซึ่งจะทำให้คุณนึกถึงสิ่งของนั้นๆได้ง่ายขึ้น หรือบางทีผู้ป่วยอาจจะสั่นหน้า คุณก็ให้กำลังใจ และหยุดคุยกับผู้ป่วยก่อน และพยายามถามใหม่ที่หลัง มิฉะนั้นทั้งคุณและผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายใจและอารมณ์เสียทั้งสองฝ่าย

  1. ตอบรับคำพูดที่ได้ยินและช่วยเสริม

ถ้าผู้ป่วยพูดคำใดออกมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาจะสื่อสาร แต่ควรถามเขาก่อน เช่น ถ้าเขาพูดว่า รถ ให้ลองถามว่าคุณพูดว่า รถใช่ไหม? มีอะไรเกี่ยวกับรถใช่ไหม? ถ้าเขาพยักหน้าหรือส่ายหน้า คุณอาจจะเดาได้ถูกหรือถึงแม้จะไม่ใช่แต่คุณสามารถเดาว่าเขาต้องการสื่อสารถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน เช่นโรงรถ ที่จอดรถ หรือตำรวจ เป็นต้น

สมาคมโสตสัมผัสวิทยา และการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย

Recent Posts
Clear Filters

Add Comment

You must be logged in to post a comment.
Most Popular Posts
Most Viewed

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ADD LINE
close-link
ADD LINE