โทรสอบถามข้อมูลทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

แนวทางการดูแลเด็กพิการทางการได้ยินและการสื่อสาร

  1. หูหนวก หมายถึง

การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีข้อบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับรู้ข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยินโดยใช้คลื่นความถี่ที่ 500 , 1,000 และ 2,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง 90 เดซิเบลขึ้นไป

  1. หูตึง หมายถึง

การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีข้อบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยินโดยใช้คลื่นความถี่ที่ 500 , 1,000 และ 2,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียงน้อยกว่า 90 เดซิเบลลงมาจนถึง 40 เดซิเบล

*หลักเกณท์ตามประกาศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กลุ่มเสี่ยง (high risk)

          การคัดกรองด้วยการซักถามและการใช้เทคนิคอย่างง่ายที่กุมารแพทย์ทั่วไปสามารถทำได้ระหว่าง อายุ 4 – 6 เดือน ตามกำหนดการดูแลสุขภาพเด็กไทย โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศ ไทย พศ. 2556

          กุมารแพทย์ควรซักถามผู้ปกครองเด็กเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงที่เด็กอาจจะเกิดหูตึงหรือมีปัญหาหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ซักประวัติครอบครัวเกี่ยวกับการตั้งครรภ์การคลอด การเจ็บป่วย การติดเชื้อ การได้รับยา และพัฒนาการด้านการได้ยินและการพูด เช่น เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน เด็กควรเริ่มมีการตอบสนองต่อเสียง โดยการหันหาต้นกำเนิดของเสียงหรือเด็กควรเริ่มพูดคำแรกไดตั้งแต่อายไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ควรซักประวัติการเรียน การถามซ้ำ และกุมารแพทย์ควรประเมินพัฒนาการด้านการพูด การภาษาของเด็กด้วย

การคัดกรองการได้ยิน โดยมีการตรวจด้วยกัน 4 ช่วงคือ

  1. ช่วงแรกเกิด

วัตถุประสงค์ : เพื่อค้นหา congenital hearing loss เนื่องจากทารกพบภาวะสูญเสียการได้ยิน 1 -2 : 1,000 คน ในทารกแรกเกิด

  1. ช่วงก่อนวัยเรียน (ประมาณ 9 เดือน – 3 ปี)
  2. ช่วงอายุ 3 – 5 ปี
  3. ช่วงอายุมากกว่า 5 ปี

*ในข้อ 2 – 4 วัตถุประสงค์เพื่อค้นหา การสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นภายหลัง

การสูญเสียชนิดการนำเสียงจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

  1. กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวการณ์ได้ยินบกพร่อง

– ผู้ดูแลเด็กสงสัยว่ามีปัญหาการได้ยิน มีการพัฒนาการด้านการพูด ภาษา ที่พัฒนาการช้าผิดปกติ

– ครอบครัวมีประวัติหูพิการในวัยเด็ก

– เด็กต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) มากกว่า 5 วัน หรือมีการใช้ ECMO (Extracorporeal membrane oxygenation) หรือ มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilation machine) หรือได้รับ ototoxic medications (gentamycin , tobramycin) หรือ loop diuretics (furosemide) และตัวเหลืองในแรกเกิดมากจนต้องได้รับการถ่ายเลือด

– มารดามีการติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลให้ทารกมีการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด ได้แก่ cytomegalovirus , herpes , rubella , syphilis และ toxoplasmosis

– มีความผิดปกติของหน้าและกระโหลก (craniofacial anomalies) รวมทั้งมีความผิดปกติที่ใบหู รูหู ติ่งเนื้อหนาที่หู

– ตรวจร่างกายพบลักษณะของกลุ่มอาการที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหูพิการ และการนำเสียงเสียถาวร

– เด็กที่เป็นโรคกลุ่มอาการที่อาจมีการสูญเสียการได้ยินหรือค่อยๆมีการสูญเสียการได้ยินภายหลัง

– เด็กที่มีการติดเชื้อหลังคลอด ที่ตรวจพบเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหู พิการ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial meningitis) และไวรัส เช่น herpes virus และ varicella

– มีการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ

– ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

การวินิจฉัย

          การวินิจฉัย congenital hearing loss ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน เป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินใน ทารกแรกเกิดตามเป้าหมายควรจะเป็น

          OAE สามารถทำการตรวจได้โดย trained personel เป็นการตรวจการทำงานของ outer hair cell ใน cochler

  • ต้องตรวจขณะเด็กหลับ
  • ตรวจในสถานที่เงียบ (ควรมีห้องตรวจโดยเฉพาะ)

          การรายงาน ผลตรวจ OAE : pass หมายความว่า cochlea ทำงานปกติ refer หมายความว่า ไม่สามารถวัด OAE ได้เนื่องจากความผิดปกติของหูชั้นนอก , หูชั้นกลางหรือหูชั้นในส่วน cochlea ได้แก่ ขี้หูอุดตัน รูหูแคบ มีของเหลวในหูชั้นกลางหรือหูตึงเป็นต้น หรืออาจมีเสียงรบกวนมากเกินไป ดังนั้นการตรวจ OAE จึงสามารถ refer ได้ร้อยละ 3 -20 แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองด้วย OAE ยังเป็นการตรวจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากตรวจง่าย และใช้เวลาในการตรวจน้อย (ประมาณ 3 – 5 นาที) แต่ต้องคำนึงว่าอาจให้ผลผ่านเทียมในกรณีที่มีพยาธิสภาพที่เส้นประสาทหู แต่ cochlea ปกติ

          Automated auditory brainstem response audiometry (A-ABR) เป็นการวัด neural activity จาก auditory pathways (cochlea , auditory nerve และ brainstem) ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นด้วยเสียงที่ความดัง 35 dBnHL โดยใช้ surface electrodes เครื่องจะประมวลผลอัตโนมัติโดยเทียบกับค่ามาตรฐานและรายงานผลเป็น pass / refer ผล pass หมายความว่า เส้นประสาทหูปกติ ซึ่งการได้ยินควรปกติ ผล refer หมายความว่า เส้นประสาทหูทำงานไม่ปกติ

          การตรวจ A – ABR ต้องตรวจในขณะที่เด็กหลับสนิท ตรวจในที่เงียบและต้องเตรียมผิวหนังบริเวณที่จะติด electrodes ซึ่งยุ่งยากกว่าการตรวจ OAE ซึ่งตรวจโดยใส่ probe ในหูเท่านั้น อีกทั้งใช้เวลาในการ ตรวจนานกว่า (10 – 20 นาที) จึงทำให้ได้รับความนิยมใช้ตรวจคดักรองน้อยกว่า OAE แต่อย่างไรก็ตามผล การตรวจ A – ABR มีความแม่นยำกว่า และสามารถใช้ได้ในกรณีที่มีพยาธิสภาพที่เส้นประสาทหู จึงแนะนำให้ใช้ตรวจในทารกกลุ่มเสี่ยง

          การเลือกใช้ OAE หรือ A – ABR ในการตรวจคัดกรองขึ้นกับแต่ละสถาบัน โดยตรวจคัดกรองครั้ง แรกในเด็กอายุมากกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อลดความผิดพลาดของการตรวจ เนื่องจากมี vernixcaseosa ในช่องหู ถ้าตรวจคัดกรองไม่ผ่านคร้ังแรก ต้องมีการตรวจคัดกรองซ้ำก่อนทารกกลับบ้าน ถ้าผลไม่ผ่านต้องตรวจคัดกรองการได้ยินซ้ำ โดยอาจเปลี่ยนวิธีการตรวจจาก OAE เป็น A – ABR ก็ได้ แต่ในกรณีที่ตรวจคัดกรองไม่ผ่าน จะไม่มีการกลับมาตรวจด้วย OAE เนื่องจากเด็กที่ A-ABR ไม่ผ่านอาจมีความผิดปกติที่ 6 ประสาทหู เมื่อผลตรวจคัดกรองไม่ผ่านเด็กควรได้รับการวินิจฉัยภายใน 3 เดือน โดย auditory brainstem response (ABR) และ / หรือ auditory steady state response (ASSR) และได้รับการรักษาก่อนอายุ 6 เดือน

          การวินิจฉัยการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นภายหลังในช่วงอายุตั้งแต่ก่อนวัยเรียน การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ต้องใช้เครื่องมือตรวจเช่นเดียวกันกับการตรวจคัดกรองในทารกแรกเกิด (OAE และ A-ABR) แต่เด็กจะหลับยากกว่าจึงอาจใช้เวลาตรวจนาน เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน 3 ปี สามารถตรวจคัดกรองโดยใช้ behavioral testing ได้แก่ visual reinforcement audiometry (VRA) โดยใช้เกณฑ์ผ่านที่ระดับความดัง 30 dBHL ที่ความถี่ 1,000 , 2,000 และ 4,000 Hz. ไม่แนะนำใช้เครื่องมือที่เป็น noncalibrated signals เช่น rattles กล่องดนตรีหรือเสียงที่ไม่มี frequency specific เช่น เสียงพูดเสียงดนตรีเป็นต้น

          เมื่อเด็กอายุ 3 – 5 ปี และให้ความร่วมมือในการตรวจสามารถใช้ conditioned play audiometry เพื่อตรวจคัดกรองโดยใช้เกณฑ์ผ่านที่ระดับความดัง 20 dBHL ความถี่ 1,000 , 2,000 และ 4,000 Hz. แต่เด็กวัยนี้มีความสนใจสั้นมากจึงต้องตรวจอย่างรวดเร็ว และผู้ตรวจต้องมีความชำนาญในการตรวจ ถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมืออาจใช้การตรวจร่างกาย (ตรวจหู) ร่วมกับการตรวจ OAE และ Tympanometry (ตรวจหูชั้นกลาง) เด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี ใช้ pure tone audiometry ตรวจโดยใช้เกณฑ์ผ่านที่ระดับความดัง 20 dBHL ที่ความถี่ 1,000 , 2,000 และ 4,000 Hz. ไม่ควรใช้ OAE ในการตรวจคัดกรองเด็กในช่วงอายุนี้ ในกรณีที่เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือพัฒนาการช้า การเลือกวิธีตรวจขึ้นกับอายุพัฒนาการ เมื่อเด็กตรวจคัดกรองไม่ผ่าน ควรตรวจร่างกาย ตรวจหู และการได้ยินภายใน 1 เดือน หลังจากการตรวจคัดกรองการได้ยิน ไม่ควรเกิน 3 เดือน เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป

ความผิดปกติหรือความบกพร่องทางการได้ยินครอบคลุม 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. หูหนวก หมายถึง การที่บุคคลที่มีความบกพร่องในการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยินโดยใช้ความถี่ที่500 , 1,000 , 2,000 และ 4,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง 81 เดซิเบลขึ้นไป
  2. หูตึง หมายถึง การที่บุคคลมีความบกพร่องในการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยินโดยใช้คลื่นความถี่ที่ 500 , 1,000 , 2,000 และ 4,000 เฮิรตซ์ หูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง 41 เดซิเบล จนถึง 80 เดซิเบล

หลักเกณฑ์การวินิจฉัยความบกพร่องทางการได้ยิน

คนพิการทางการได้ยิน ได้แก่คนที่ได้ยินเสียงความถี่ที่ 500 , 1,000 , 2,000 และ 4,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ดีกว่าที่มีความดังเฉลี่ยตั้งแต่ 41 เดซิเบลขึ้นไปจนไม่ได้ยินเสียง

ความผิดปกติหรือความพิการประเภทนี้ครอบคลุม 2 ลักษณะ คือ

  1. หูหนวก
  2. หูตึง

หัวข้อพิจารณา คือ

  1. การได้ยินเสียง
  2. การเข้าใจภาษพูด

คนพิการทางการได้ยินตามกฎหมายไม่คลอบคลุมบุคคลต่อไปนี้

  1. หูตึง 1 ข้าง
  2. หูหนวก 1 ข้าง
  3. การสูญเสียการได้ยินที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือยังไม่สิ้นสุดการรักษา
  4. แนวทางการให้ early intensive intervention และประเมินผลแบ่งตามช่วงอายุดังรายละเอียดตาม flow chart

– อายุแรกเกิด – 6 เดือน

– อายุ 6 เดือน – 3 ปี

– อายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

*ในเด็กแนะนำให้ใส่เครื่องช่วยฟัง 2 ข้าง เพื่อป้องกัน Auditory deprivation ซึ่งต่างจากในผู้ใหญ่ที่สามารถใส่เครื่องช่วยฟัง 1 ข้างได้

  1. การให้ความช่วยเหลือด้าน Bio – psycho – social care ทางการแพทย์ / โรงเรียน พร้อมตัวอย่าง

– หลังขึ้นทะเบียนคนพิการแล้วเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถขอเบิกเครื่องช่วยฟังได้ทั้ง 2 ข้าง โดย สามารถเบิกเครื่องใหม่ได้ทุก 3 ปี ถ้าเครื่องช่วยฟังเสียจนไม่สามรถซ่อมได้

– กรณีเด็กไม่มีรูหูหรือรูหูตีบอาจจะต้องมีเอกสารที่บ่งบอกว่าการผ่าตัดใส่เครื่องช่วยฟังชนิดฝั่งในกระดูก (Bone anchored hearing aid) ดังนี้

  • เด็กต้องมีอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป
  • เด็กที่ไม่มีรูหูหรือรูหูตีบทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิดหรือหูชั้นนอกมีการอักเสบเรื้อรังจนใส่เครื่องช่วย
  • ฟังแบบปกติไม่ได้ทั้ง 2 ข้าง
  • มีการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง (conductive hearing loss) หรือสูญเสียการได้ยินชนิดผสม (mixed hearing loss) ทั้งสองข้าง และมีระดับการได้ยินผ่านกระดูก (bone conduction) ในทุกความถี่ต้องไม่มากกว่า 45 เดซิเบล ร่วมกันกับการมีคะแนนคำพูด (SD Score) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

*ผู้มีสิทธิ์อยู่ในระบบสวัสดิการข้าราชการสามารถเบิกจ่ายเครื่องช่วยฟังชนิดฝั่งในกระดูกได้ 1 ชุด ไม่เกิน 200,000 บาท ในขณะที่สิทธิ์อื่นยังไม่สามารถเบิกเครื่องช่วยฟังนี้ได้

– กรณีเด็กหูหนวกทั้ง 2 ข้าง มีข้อบ่งชี้ของการฝั่งประสาทหูเทียม (Cochlear implant) ดังนี้

  • มีประสาทหูเสื่อม 2 ข้าง โดยสูญเสียการได้ยินมากกว่า 90 เดซิเบลขึ้นไป และได้รับการฟื้นฟู สมรรถภาพการฟังและการพูดมาก่อนอย่างน้อย 6 เดือน และได้ผลน้อยจากการใช้เครื่องช่วยฟังหรือกรณีเด็กหูหนวกจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน
  • สุขภาพดีไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
  • สุขภาพจิตดี และสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือต่ำกว่าปกติเล็กนอ้ย ในเด็กใช้การประเมินพัฒนาการร่วมด้วย
  • ต้องสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินหลังการผ่าตัดและติดตามผลเป็นระยะได้
  • ผู้ปกครองให้การสนับสนุน
  • ผู้ที่มีสิทธิ์อยู่ในระบบสวัสดิการข้าราชการ สามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายค่าเครื่องประสาทหูเทียม 1 ข้าง ไม่เกิน 850,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าผ่าตัดและค่าบริการฟื้นฟูการได้ยินในขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์ประกัน สังคม และประกันสุขภาพยังไม่ได้รับสิทธิ์การเบิกค่าเครื่องประสาทหูเทียม

          *เด็กพิการทางหูที่ประสบความสำเร็จในการฟังและพูดจะได้รับคำแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปเข้า โรงเรียนที่สามารถเรียนร่วมกันกับเด็กปกติ เช่น โรงเรียนพญาไท โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นต้น แต่ถ้าเด็กไม่สามารถฟังและพูดได้หลังจากได้รับการฟื้นฟู ทางด้านการได้ยินและสื่อความหมายแล้วสามารถส่งเรียนที่ โรงเรียนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน หรือสื่อ ความหมายโดยเฉพาะ (เรียนภาษามือ) เช่น โรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และตาม จังหวัดต่างๆ เช่น โรงเรียนศึกษาพิเศษนครปฐม โรงเรียนศึกษาพิเศษนครราชสีมา โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนศึกษาพิเศษระยอง เป็นต้น

          *ตัวอย่างสถานพยาบาลที่ให้บริการเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายใน กรุงเทพมหานครได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระ มงกุฏเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จังหวัดอื่นได้แก่ โรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

การติดตามประเมินผล

          เมื่อได้รับเครื่องช่วยฟังไปแล้วให้มีการติดตามผลของการใช้เครื่องช่วยฟังในชีวิตประจำวันตั้งแต่ 1 – 4 สัปดาห์แรก เพื่อดูการตอบสนองของเด็กฝึกฟังและฝึกพูด ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุโดยนักแก้ไข้การพูด หรือครูการศึกษาพิเศษอย่างน้อยทุกๆเดือน (ความถี่ของการฝึกฟังฝึกพดูขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลและความพร้อมของผู้ปกครอง) ถ้าเด็กเริ่มมีภาษาสามารถนัดติดตามผลเป็นระยะทุก 3 หรือ 6 เดือน หรือเมื่อเครื่องช่วยฟังมีปัญหา

          กรณีเด็กที่ได้รับการผ่าตัดฝั่งประสาทหูเทียม หลังผ่าตัด 1 สัปดาห์ นัดมาดูแผลและเปิดเครื่อง ประสาทหูเทียมให้เด็กได้เริ่มฝึกฟังเสียง และปรับเครื่องทุกสัปดาห์จนกระทั่งครบ 1 เดือน หลังจากนั้นก็ห่าง ออกเรื่อยๆทุก 2 สัปดาห์เป็นทุก 1 เดือน ห่างออกเป็นทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือนระหว่างนี้ควรมาฝึกฟัง และพูดทุกสัปดาห์ (ความถี่ของการมาฝึกฟังพูดขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลและความพร้อมของผู้ปกครอง)

แนวทางในการให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ครอบครัวเด็กที่มีปัญหาการได้ยิน

          ผู้ปกครองในกรณีที่เด็กมีปัญหาประสาทหูพิการ ผู้ปกครองต้องหาอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับระดับการได้ยินให้เด็กโดยไปพบโสต ศอ นาสิกแพทย์ เพื่อออกเอกสารรับรองความพิการ จดทะเบียนผู้พิการเพื่อได้รับสิทธิ์เบิกเครื่องช่วยฟังจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเด็กไปใส่เครื่องช่วยฟังให้เร็วที่สุด ผู้ปกครองต้องดูแลให้เด็กใส่เครื่องช่วยฟังอย่างสม่ำเสมอ ถูกวิธีและดูแลเครื่องช่วยฟังตามที่ได้รับคำแนะนำมา พาเด็กมาตรวจติดตามผล ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการพูดอย่างต่อเนื่อง และต้องฝึกฝนที่บ้านตามที่นักอรรถบำบัดแนะนำมา ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพอนามัยเด็กด้านความเจ็บป่วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เมื่อเด็กเจ็บป่วยต้องรีบรักษาและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัญหาด้านการได้ยินเพื่อระมัดระวังในการให้ยา ในกรณีที่เด็กได้รับการผ่าตัดใส่ท่อระบายอากาศในหูต้องดูแลไม่ให้น้ำเข้าหู

          เด็กที่มีปัญหาด้านการได้ยินควรได้รับการรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เด็กประสาทหูพิการต้องได้รับการรักษาโดยการใส่เครื่องช่วยฟังทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย ต้องฝึกฟัง ฝึกพูด และตรวจติดตามการใช้การได้ยินอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินผลการใช้เครื่องช่วยฟัง ถ้าใส่เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผลดีใน 6 เดือน อาจพิจารณาผ่าตัดประสาทหูเทียม (Cochlear implant) เด็กที่มีหูชั้นกลางอักเสบชนิดน้ำใสเรื้อรังอาจมีผลต่อการได้ยิน ทำให้พัฒนาการด้านการพูดล่าช้า มีผลต่อการเรียน ถ้าเป็นหูชั้นกลางอักเสบชนิดน้ำใสนานกว่า 3 เดือน ควรไดรับการผ่าตัดเจาะแก้วหู และใส่ท่อระบายอากาศ (myringotomy with ventilation tube) เพื่อดูดน้ำจากหูชั้นกลาง ปรับความดันในหูชั้นกลางและป้องกันการเกิดพังผืดในหูชั้นกลาง

          การศึกษาถ้าเด็กได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและการพูดจนสามารถพูดได้สมวัย เด็กสามารถเรียนร่วมกันกับเด็กอื่นในชั้นเรียนปกติ การเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลปกติอาจช่วยกระตุ้นให้เด็ก อยากพูดมากขึ้น ถ้าเด็กสามารถพูดได้บ้าง แต่ไม่ชัด และไม่สมวัย เด็กควรเรียนในโรงเรียนที่มีครูการศึกษาพิเศษคอยช่วย หรือเรียนในชั้นเรียนพิเศษ หรือใช้ระบบ FM ในการเรียน ถ้าเด็กหูหนวกไม่สามารถพูดได้ ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินไม่ได้ผล เด็กต้องเข้าโรงเรียนโสตศึกษาเพื่อเรียนภาษามือ

ขอบคุณ ผลงานวิจัยของ

พ.ญ.นาฏยพร จรัญเรืองธีรกุล โสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

พ.ญ.อุมาพร พนมธรรม โสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

พ.ญ.นภัสถ์ ธนะมัย โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี

ขอบคุณรูปภาพจาก

Free Photo By Rawpixel.com / Freepik

Recent Posts
Clear Filters

Add Comment

You must be logged in to post a comment.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ADD LINE
close-link
ADD LINE