โทรสอบถามข้อมูลทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

การผ่าตัดประสาทหู

ในอดีตเราเชื่อกันว่า คนที่หูหนวกมาแต่กำเนิดจะต้องสูญเสียการได้ยินไปตลอดชีวิต คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า วิวัฒนาการทางการแพทย์ทุกวันนี้จะช่วยให้คนที่เคยสิ้นหวังทางการได้ยิน กลับมามีชีวิตใหม่ได้ด้วยเสียงที่พวกเขารอคอยมานาน
วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เรากำลังพูดถึงก็คือ การผ่าตัดประสาทหูเทียม หรือ Cochlear Implants นั่นเอง

สุปราณี จันทรเศรษฐ ที่ปรึกษาประสาทหูเทียม อธิบายว่า ประสาทหูเทียมคือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถช่วยเรื่องการได้ยิน และยังทำให้การสนทนาโต้ตอบดีขึ้นด้วย ประสาทหูเทียมนี้ส่วนหนึ่งจะอยู่ในร่างกาย ซึ่งแพทย์จะทำการฝังไว้บนกระดูกหลังใบหู ไม่สามารถมองเห็นได้เพราะมีผิวหนังปกคลุมสนิท แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ภายนอก มีรูปร่างคล้ายเครื่องช่วยฟังแบบกระเป๋ามีสายและมองเห็นได้ชัดเจน

“ประสาทหูเทียมนี้จะแตกต่างจากเครื่องช่วยฟังอื่นๆ ตรงที่เครื่องช่วยฟังจะทำการขยายเสียงให้ดังขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยประสาทหูพิการเข้าใจเสียงที่ได้ยิน แต่เครื่องประสาทหูเทียมจะไปทดแทนส่วนของประสาทหูที่ถูกทำลายและช่วยกระตุ้น ประสาทรับเสียง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง”

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะรับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมก็คือ เป็นผู้หูหนวกสนิททั้งสองข้าง, อายุมากกว่าสองปีขึ้นไป, ใช้เครื่องช่วยฟังอื่นๆ ไม่ได้ผล ที่สำคัญคือต้องไม่มีเงื่อนไขในความเสี่ยงของการผ่าตัด
ทั้งนี้ สุปราณี แนะนำว่า ก่อนตัดสินใจผ่าตัดจะต้องคำนึงว่าหลังการผ่าตัดใส่เครื่องประสาทหูเทียมแล้ว ผู้รับการผ่าตัดจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ต้องไม่คาดหวังประโยชน์เกินกว่าประสิทธิภาพของเครื่อง เพราะค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้มีค่อนข้างสูง

ขณะที่ ศ.นพ.สมยศ คุณจักร หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงความเสี่ยงจากการผ่าตัดประสาทหูเทียมว่า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเหมือนการผ่าตัดอื่นๆ เช่น อาจมีอาการ ชาบริเวณแผลผ่าตัด, ลิ้นชา, ชาบริเวณใบหน้า, ปวดคอ, มึนงง, มีเสียงดังในหู ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วคราวและจะกลับมาเป็นปกติหลังจากแผลผ่าตัด หายสนิทแล้ว นอกจากนี้ ยังอาจพบน้ำในหูชั้นในรั่ว การกระตุกของใบหน้า ซึ่งสามารถแก้ไขได้

“ประมาณ 3-5 สัปดาห์หลังผ่าตัด แผลผ่าตัดจะหายสนิท และผู้ป่วยจะได้รับการติดตั้งประสาทหูเทียมส่วนที่อยู่นอกร่างกาย โดยนักตรวจการได้ยินจะปรับแต่งเสียงให้ได้ระดับที่ดังและสบาย จากนั้นผู้ป่วยต้องมารับการบำบัดฟื้นฟูและเรียนรู้การแปลความหมายของเสียง ที่ได้ยินจากเครื่อง โดยระยะเวลาการเรียนรู้จะแตกต่างไปในแต่ละบุคคล”

อาจารย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวอีกว่า ผู้ใส่ประสาทหูเทียม สามารถเข้าร่วมกิจกรรม หรือเล่นกีฬาได้เหมือนคนปกติ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังประสาทหูเทียม ทั้งส่วนที่อยู่ในและนอกร่างกายเป็นพิเศษ ส่วนการดูแลรักษาเครื่องนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงดูแลให้สะอาด ไม่ให้เปียกชื้น ชิ้นส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกายสามารถเปลี่ยนและซ่อมได้

ด้าน สุปราณี ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานทำการผ่าตัดประสาทหูเทียมนั้น ควรมีการวัดและประเมินการได้ยิน และศึกษาเรื่องการผ่าตัดประสาทหูเทียมจนเข้าใจก่อน เพื่อจะช่วยให้มีการพัฒนาทักษะการได้ยินที่ดี

เมื่อใส่เครื่องแปลงสัญญาณแล้ว การปรับเครื่องแปลงสัญญาณ (Mapping) ในเด็กอาจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับเสียงใหม่ที่เพิ่งได้ยิน และให้มีประสบการณ์การได้ยินเบื้องต้นที่ดีก่อน

“ที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก เพื่อให้เกิดความเคยชินในเวลาที่เด็กอยู่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้มีพัฒนาการที่เร็วขึ้น ตลอดจนมีแรงบัลดาลใจที่จะพยายามสื่อสารจากเสียงที่ได้ยินใหม่ด้วย” สุปราณี กล่าวทิ้งท้าย

Recent Posts
Clear Filters

Add Comment

You must be logged in to post a comment.
Most Popular Posts
Most Viewed

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ADD LINE
close-link
ADD LINE